ประกอบด้วยอาการอันน่าเลื่อมใสในการก้าวไปและถอยกลับ แม้นั่งในละแวกบ้านก็สำรวมแล้ว
ด้วยดี ๑ เป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็น
เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑ ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ๑ ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุผู้เถระประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการนี้แล จะอยู่ในทิศใดๆ ย่อมอยู่สำราญ
โดยแท้ ฯ
จบสูตรที่ ๘
อุปาลีสูตร
[๙๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระอุบาลีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับถวายบังคม
แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ปรารถนาเพื่อสร้องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรอุบาลี เสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด อยู่ลำบาก ทำความวิเวกได้ยาก ยากที่จะอภิรมย์
ในการอยู่ผู้เดียวป่าทั้งหลายเห็นจะนำใจของภิกษุผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย ดูกรอุบาลี ผู้ใดพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า เราเมื่อไม่ได้สมาธิจักสร้องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัดผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้
คือ จักจมลงหรือจักฟุ้งซ่าน ดูกรอุบาลี เปรียบเหมือนมีห้วงน้ำใหญ่อยู่ มีช้างใหญ่สูง ๗ ศอก
หรือ ๗ ศอกกึ่ง มาถึงเข้า ช้างตัวนั้นพึงคิดอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ เราลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้วพึงขัด
ถูหูเล่นบ้าง พึงขัดถูหลังเล่นบ้าง ครั้นแล้ว จึงอาบ ดื่มขึ้นมากลับไปตามต้องการ ช้างนั้น
ลงสู่ห้วงน้ำนั้นแล้วพึงขัดถูหูเล่นบ้าง ขัดถูหลังเล่นบ้าง ครั้นแล้วจึงอาบ ดื่มขึ้นมาแล้วกลับไป
ตามต้องการ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าช้างนั้นเป็นสัตว์มีร่างกายใหญ่ ย่อมได้การลงใน
น้ำลึก ครั้นกระต่ายหรือเสือปลามาถึง (ห้วงน้ำนั้น) เข้า กระต่ายหรือเสือปลาพึงคิดอย่างนี้ว่า
เราเป็นอะไรและช้างใหญ่เป็นอะไร ไฉนหนอ เราพึงลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้วจึงขัดถูหูเล่นบ้าง พึงขัด
ถูหลังเล่นบ้าง ครั้นแล้ว จึงอาบ ดื่มขึ้นมาแล้วกลับไปตามต้องการ กระต่ายหรือเสือปลา
นั้นก็ลงสู่ห้วงน้ำนั้นโดยพลัน ไม่ทันได้พิจารณา กระต่ายหรือเสือปลานั้นจำต้องหวังข้อนี้ คือจัก
จมลงหรือจักลอยขึ้นข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่ากระต่ายหรือเสือปลานั้นเป็นสัตว์มีร่างกายเล็ก