ตรวจหา
"ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้, สุตตันตะเหล่าใด
ที่กวีแต่งขึ้นใหม่เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน
มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก
เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่
เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน"
"ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสุตตันตะเหล่าใดที่เป็นคำของตถาคต
เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ
ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญาตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง
ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน จึงพากันเล่าเรียนไต่ถาม
ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า "ข้อนี้เป็นอย่างไร? มีความหมายกี่นัย?" ดังนี้. ด้วยการทำดังนี้
เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้. ธรรมที่ยังไม่ปรากฎเธอก็ทำให้ปรากฎได้,
ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้"
ทุก. อํ. ๒๐/๖๘/๒๙๒
เทียบเคียง
"ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าภิกษุในธรรมวินัยนี้กล่าวอย่างนี้ว่า
...(๑) ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค
...(๒) ในอาวาสชื่อโน้น มีสงฆ์อยู่พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาโมกข์
ข้าพเจ้าได้สดับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้น
...(๓) ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นเถระอยู่จำนวนมากเป็นพหูสูตร เรียนคำภีร์
ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้น
...(๔) ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นเถระอยู่รูปหนึ่งเป็นพหูสูตร เรียนคำภีร์
ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้น
ว่า "นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา"...
เธอทั้งหลายยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวนั้น
พึงเรียนบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี
แล้วพึงสอบสวนลงในพระสูตร เทียบเคียงดูในวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงไม่ได้
เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้... เธอทั้งหลายพึงทิ้งคำนั้นเสีย"
จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๖๒/๑๘๐