ร้องเรียกพระอินทร์ พระจันทร์ พระวรุณ พระอีศวร พระประชาบดี พระพรหม พระมหินทร์
ก็พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชาอย่างนั้น ละธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์เสีย สมาทานธรรมที่มิใช่
ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์ประพฤติอยู่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็นสหาย
แห่งพรหม เพราะเหตุร้องเรียก เพราะเหตุอ้อนวอน เพราะเหตุปรารถนา หรือเพราะยินดี ข้อนี้
ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
[๓๗๗] ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดี น้ำเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง กาดื่มกินได้
ครั้งนั้น บุรุษผู้ต้องการฝั่ง แสวงหาฝั่ง ไปยังฝั่ง ประสงค์จะข้ามฝั่งไป เขามัดแขนไพร่หลัง
อย่างแน่น ด้วยเชือกอย่างเหนียวที่ริมฝั่งนี้ ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
บุรุษนั้นพึงไปสู่ฝั่งโน้นจากฝั่งนี้แห่งแม่น้ำอจิรวดีได้แลหรือ?
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ไม่ได้.
ดูกรวาเสฏฐะ ฉันนั้นเหมือนกัน กามคุณ ๕ เหล่านี้ ในวินัยของพระอริยเจ้า เรียกว่า
ขื่อคาบ้าง เรียกว่าเครื่องจองจำบ้าง กามคุณ ๕ เป็นไฉน? คือ รูปที่พึงรู้ด้วยจักษุ เสียงที่พึงรู้
ด้วยโสต กลิ่นที่พึงรู้ด้วยฆานะ รสที่พึงรู้ด้วยชิวหา โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกาย น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก เกี่ยวด้วยกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด กามคุณ ๕ เหล่านี้ ในวินัย
ของพระอริยเจ้า เรียกว่าขื่อคาบ้าง เรียกว่าเครื่องจองจำบ้าง พราหมณ์ผู้ได้ไตรวิชชา กำหนัด
สยบ หมกมุ่น ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสลัดออก บริโภคกามคุณ ๕ เหล่านี้อยู่ ก็พราหมณ์
ผู้ได้ไตรวิชชาเหล่านั้น ละธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นพราหมณ์เสีย สมาทานธรรมที่มิใช่ทำบุคคล
ให้เป็นพราหมณ์ประพฤติอยู่ กำหนัด สยบ หมกมุ่น ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสลัดออก
บริโภคกามคุณ ๕ พัวพันในกามฉันท์อยู่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงความเป็น
สหายแห่งพรหม ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.
[๓๗๘] ดูกรวาเสฏฐะ เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดี น้ำเต็มเปี่ยมเสมอฝั่ง กาดื่มกินได้
ครั้งนั้น บุรุษผู้ต้องการฝั่ง แสวงหาฝั่ง ไปยังฝั่ง ประสงค์จะข้ามฝั่งไป เขากลับนอนคลุมตลอด
ศีรษะเสียที่ฝั่ง ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นพึงไปสู่ฝั่งโน้นจากฝั่งนี้
แห่งแม่น้ำอจิรวดีได้หรือหนอ?